รายงานพิเศษ : กรรมการ Oscars เป็นใคร ตัดสินอย่างไร – Thai PBS

หลายคนสงสัยว่า “รางวัลออสการ์” ในแต่ละปี มีการตัดสินอย่างไร ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์ สิทธิชัย แก้วจินดา นักวิจารณ์ภาพยนตร์ อธิบายว่า
Academy Award หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า “ออสการ์” (Oscars) จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และปีนี้ก็ได้ประกาศรายชื่อผู้เข้าชิงมาแล้ว หลายคนอาจสงสัยว่า เขาเลือกรายชื่อผู้เข้าชิงกันอย่างไร
อธิบายให้ง่ายที่สุดคือ เขามีคณะกรรมการออสการ์ที่ส่งรายชื่อเพื่อเสนอให้เข้าชิง
รางวัลออสการ์นั้นแตกต่างจากรางวัลอื่น ๆ ตรงที่เป็นรางวัลมหาชน เพราะเกณฑ์การตัดสินเบื้องต้น ในการเสนอชื่อผู้ที่มีสิทธิ์เข้าชิงรางวัลออสการ์มีเกณฑ์หลักหลักดังนี้
สำหรับผู้อำนวยการสร้างหรือผู้จัดจำหน่าย หากต้องการให้หนังของตนเองได้รับการพิจารณา โดยเฉพาะหนังที่เข้าฉายในช่วงต้นปี ทางคณะกรรมการเขาก็จะมีแบบฟอร์ม ที่จะให้เสนอชื่อเข้าชิง แล้วก็จะรวบรวมในช่วงเดือนมกราคม จากนั้นก็ส่งไปยังสมาชิกทุกคน
สิทธิชัย กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาแรงงานต่าง ๆ จะอยู่ภายใต้สังกัดสภาพแรงงาน สำหรับผู้ที่อยู่ในวงการภาพยนตร์ก็จะมีสหภาพแรงงานประจำเช่น สหภาพผู้กำกับ สหภาพผู้อำนวยการสร้าง สหภาพนักแสดง สหภาพนักเขียนบท
ผู้มีสิทธิ์เป็นกรรมการออสการ์นั้นจะต้องสังกัดสหภาพเหล่านี้ ซึ่งจะขึ้นทะเบียนกับ “สมาคมศิลปะและวิทยาการภาพยนตร์สหรัฐอเมริกา” (Academy of Motion Pictures and Sciences: AMPAS) นอกจากนี้ก็จะยังมีสมาชิกที่เป็นสมาคมต่าง ๆ อีกมาก
ปัจจุบันกรรมการออสการ์รวมกันทั้งสิ้นประมาณ 7,000 คน คนเหล่านี้ก็จะมีสิทธิ์เสนอชื่อ สาขาที่ตนเองสังกัด เช่น ผู้กำกับการแสดง ก็สามารถเสนอชื่อผู้กำกับยอดเยี่ยม และเสนอชื่อภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงก็จะสามารถเสนอชื่อนักแสดงสาขาต่าง ๆ รวมไปถึงภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
ส่วนสาขารางวัลที่มีความพิเศษแตกต่าง เช่น Animation ภาพยนตร์สารคดีภาพยนตร์สั้นนั้น จะมีคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาพิจารณารายชื่ออีกชุดหนึ่ง
เช่นเดียวกันในการให้คะแนน ผู้ที่สังกัดสาขาที่ตนเองประกอบอาชีพอยู่ ก็จะสามารถเสนอผู้ที่สมควรได้รับรางวัลสำหรับสาขานั้น และภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกสาขาหนึ่ง อาจจะมีแตกต่างอยู่บ้าง ตรงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่สมาชิกต้อง Ranking คะแนน จากนั้นนำคะแนนมาหาค่าสัมประสิทธิ์ เพื่อพิจารณาคัดเลือกภาพยนตร์ที่จะได้รับรางวัลยอดเยี่ยมต่อไป
ด้วยเหตุนี้ถึงบอกว่า รางวัลออสการ์คือรางวัลมหาชน เพราะเป็นการลงคะแนนในหมู่สมาชิกซึ่งมีอยู่แล้วราว 7,000 คน อย่างที่บอกไป อาจจะแตกต่างจากรางวัลอื่น ๆ เช่นรางวัลหนังเมืองคานส์ รางวัลจากเทศกาลหนังอื่น ๆ ที่จะมีคณะกรรมการชัดเจนในการทำหน้าที่ลงคะแนน และมอบรางวัลให้กับผู้ที่เหมาะสม
สิทธิชัยกล่าวต่อว่า ส่วนการลงคะแนนไม่ได้จำกัดว่า กรรมการทุกคนจะต้องดูหนังทุกเรื่องที่มีชื่อเข้าชิง เขาอาจจะไม่ได้ดูเลยก็ได้ แต่เขามีสิทธิ์ลงคะแนน จึงไม่แปลกที่หนังที่ได้รับรางวัลมักจะเป็นหนังที่มีกระแสดี
แต่ละปีเราจะอาจได้ยินข่าวการล็อบบี้ ซึ่งมีความจำเป็นกับงานที่กรรมการเยอะขนาดนี้ โดยเฉพาะกับหนังเล็ก ๆ หนังนอกกระแสที่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ การล็อบบี้ก็ทำได้หลากหลายรูปแบบ สมัยก่อนที่เป็นม้วนวีดีโอ ทางผู้สร้างก็จะจัดส่งวีดีโอไปให้กับกรรมการถึงบ้านเลย แต่ก็จะมีการทำลายน้ำ หรือไม่ก็ลดสี ลดความละเอียดของภาพลงไป ถึงทุกวันนี้ก็ส่งเป็น Link ให้กรรมการได้ดูกัน
สิทธิชัยกล่าวว่า สำหรับออสการ์เองก็มีเสียงกังขามาค่อนข้างมาก ว่าด้วยปริมาณผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนจำนวนมากมหาศาลขนาดนี้ กรรมการจะดูหนังหรือไม่ก็ไม่สามารถเจาะลึกได้ เคยมีการหารายละเอียดว่า กรรมการออสการ์มากกว่าครึ่ง บางคนไม่ได้มีผลงานในวงการหนังมากกว่า 10 ปี ก็ยังมี แต่ก็ยังมีสิทธิ์ลงคะแนน
ส่วนเกณฑ์การรับสมัครสมาชิกเพื่อจะสามารถลงคะแนนได้นั้นอันดับแรกเลยคุณจะต้องอยู่ในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีผลงานในรอบ 2 ปี มีการเสนอชื่อโดยสมาชิกเดิมจำนวน 2 รายเพื่อรับรองคุณสมบัติ
อย่างที่บอกนะครับไม่มีรางวัลใดที่ จะสร้างความพอใจให้กับทุกคนได้ มันมีแต่ว่ารางวัลนั้นเหมาะสมหรือไม่เพียงไร