ศาลให้ปล่อยตัวชั่วคราว "ตะวัน-แบม" เหตุอาการเจ็บป่วยอยู่ในขั้นวิกฤต – บีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix
ศาลอาญาให้ปล่อยจำเลยชั่วคราว 1 เดือน
ศาลอนุญาตปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ “ตะวัน” วัย 21 ปี และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ “แบม” อายุ 23 ปี โดยให้เหตุผลว่าอาการป่วยของทั้งคู่เข้าขั้นวิกฤต ขณะที่เฟซบุ๊กที่มีรายงานว่าเป็นของ "ตะวัน" โพสต์คำชี้แจงว่า ทั้งสองคน "จะไม่รับรู้ ไม่ลงลายมือชื่อในเอกสารใด ๆ เกี่ยวกับการปล่อยตัว"
ทว่า นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความของทั้งสองกล่าวกับบีบีซีไทยว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ตรงกับความประสงค์ของลูกความทั้งสองที่ขอให้ศาลปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาคดีการเมืองทั้งหมด
“เมื่อไม่ใช่ความประสงค์ ทั้งสองจึงวางเฉย และพรุ่งนี้จะขอตัดสินใจอีกครั้ง” นายกฤษฎางค์กล่าว

วันนี้ (7 ก.พ.) ศาลอาญา และศาลอาญากรุงเทพใต้ มีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราว “ตะวัน” กับ “แบม” จำเลยคดีมาตรา 112 ที่เริ่มอดอาหารและน้ำตั้งแต่เย็นวันที่ 18 ม.ค. จนต้องหามตัวส่ง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ในเวลาต่อมา
คำสั่งของศาลที่ออกมา เป็นผลจากการยื่นคำร้องของ รศ.นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ขอให้ศาลปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 คน
คำสั่งศาลอาญาให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.ทานตะวัน จำเลยในคดีหมายเลขดำ อ.1237/2565 อ้างถึงรายงานถึงสุขภาพของจำเลยที่จัดทำโดย รพ.ธรรมศาสตร์ฯ โดยระบุถึงอาการล่าสุดเมื่อเช้าวันที่ 6 ก.พ.ว่า อาการโดยรวมของผู้ถูกควบคุมตัวมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก อาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่ง รพ. เห็นว่าจำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณา และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤติอย่างยิ่ง จึงขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนหมายขัง และให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีเงื่อนไข ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในเรื่องการสันนิษฐานจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษา และหลักการการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยให้ทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้มีการหลบหนี ซึ่งจะทำให้การรักษาตัวและฟื้นฟูสภาพร่างกายของจำเลยทำได้สะดวก และลดเงื่อนไขที่อาจจะเป็นอันตรายแก่ชีวิต
ศาลอาญาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยอยู่ในความดูแลรักษาของ รพ. ที่ผู้ร้องเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่ เมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายแพทย์รายงานมาว่าจำเลยอยู่ในภาวะวิกฤติอาจเสียชีวิตได้ ประกอบกับการเข้าเยี่ยมจำเลยจากบุคคลใกล้ชิดในกรณีที่จำเลยยังอยู่ในความควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต้องเป็นไปตามระเบียบ ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาในการเยียวยาจิตใจของจำเลยขณะอยู่ในภาวะวิกฤติ กรณีมีเหตุสมควรให้ออกหมายปล่อยจำเลยชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา 1 เดือน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคสาม เมื่อครบเวลาปล่อยชั่วคราวแล้วให้จำเลยมารายงานตัวต่อศาล โดยให้ออกหมายปล่อยจำเลยวันนี้ และแจ้งผู้ร้องทราบด้วย
เช่นเดียวกับคำสั่งของศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ให้ปล่อยชั่วคราว น.ส.อรวรรณ จำเลยที่ 7 ในคดีหมายเลขดำ อ.765/2565 ก็อ้างถึงคำร้องของ ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ ที่ระบุถึงอาการโดยรวมของจําเลยว่า เลวร้ายลงมากจนอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้ เนื่องจากมีภาวะคีโตนในเลือดสูงมากขึ้น และประสิทธิภาพการทำงานกรองของเสียของไตลดลงอย่างมาก จำเลยอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะแก่การควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดี และสุขภาพร่างกายอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างยิ่ง หากยังคงควบคุมตัวจำเลยเอาไว้มีโอกาสที่จำเลยอาจเสียชีวิตระหว่างการควบคุมตัวได้ สอดคล้องกับรายงานการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ และหนังสือของทัณฑสถานหญิงกลางที่อ้างถึงแถลงการณ์ของ รพ.ธรรมศาสตร์ฯ
“จึงน่าเชื่อว่า อาการเจ็บป่วยของจำเลยที่ 7 อยู่ในขั้นวิกฤต หากจำขังจำเลยที่ 7 ต่อไป จำเลยที่ 7 อาจจะถึงอันตรายแก่ชีวิต เช่นนี้การกำหนดเงื่อนในการปล่อยชั่วคราวใด ๆ ในช่วงเวลานี้ จึงมิใช่สาระอันสำคัญและจำเป็นยิ่งไปกว่าการคุ้มครองดูแลชีวิตของจำเลยที่ 7 ทั้งจำเลยที่ 7 เจ็บป่วยถึงขั้นเป็นอันตรายแก่ชีวิต โอกาสที่จำเลยที่ 7 จะก่อภัยอันตรายหรือสร้างความเสียหายหลังจากการปล่อยชั่วคราวจึงเป็นไปได้ยาก อีกทั้งจำเลยที่ 7 เคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาแล้วช่วงเวลาหนึ่งและไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี
เมื่อความปรากฏต่อศาลเช่นนี้ อาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 71 วรรคสาม และมาตรา 108 วรรคสอง จึงเห็นควรอนุญาตให้ปล่อยจำเลยที่ 7 ชั่วคราวโดยไม่มีประกัน ออกหมายปล่อยจําเลยที่ 7 และหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 7 และผู้ร้องทราบ กำชับให้จำเลยที่ 7 มาศาลตามที่นัดไว้แล้วด้วย” คำสั่งศาลอาญากรุงเทพใต้ระบุ

หลังจากมีรายงานข่าวดังกล่าว เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Tawan Tantawan ซึ่งมีรายงานว่า เป็นของตะวัน ได้โพสต์ภาพจดหมาย "คำชี้แจงของตะวัน-แบม ลงวันที่ 7 ก.พ.
เนื้อความจดหมายระบุว่า ทนายความได้เข้าพบทั้งสองคนและได้แจ้งข่าวนี้ให้ทราบ แต่พวกเธอรู้สึก "ประหลาดใจ" ต่อข่าวดังกล่าว เพราะเธอทั้งสองคนไม่ได้ต้องการขออิสรภาพให้ตัวเอง ตะวันและแบมยังได้ขอให้ทนายความนำรายละเอียดคำสั่งศาลในเรื่องดังกล่าวทั้งหมด มาแจ้งให้พวกเธอทราบโดยด่วนในวันพรุ่งนี้ (8 ก.พ.) เพื่อให้พวกเธอตัดสินใจว่า จะต่อสู้ต่อไปอย่างไร
ในจดหมายระบุว่า เธอทั้งสองคนไม่รู้กับการกระทำของทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ และจะไม่ลงชื่อในเอกสารใด ๆ เกี่ยวกับการปล่อยตัว
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุข้อมูลจากทนายความด้วยว่า "ก่อนหน้านี้แพทย์ได้แจ้งว่าถ้ายังไม่รับการรักษาอาจจะผ่านคืน 6 ก.พ. ไปไม่ได้ หลังพูดคุยกัน ตะวันและแบมจึงยอมรับน้ำเกลือ"
ตะวันและแบม ระบุผ่านนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงสายว่า ยังปฏิเสธไปรับประทานอาหาร ไม่รับรักษาด้วยยาใด ๆ รวมทั้งน้ำเกลือวิตามิน พร้อมกับรอติดตามผลการยื่นปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองรวม 8 คดี ที่ทนายยื่นต่อศาลอาญาอีกครั้ง
นายกฤษฎางค์ ทนายความที่ทำคดีให้ผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพหลายราย กล่าวเมื่อ 7 ก.พ. ว่า เข้าได้รับมอบหมายจากลูกความทั้งสองให้เดินทางไปศาลเพื่อขอดูคำสั่งในช่วงเช้าของวันที่ 8 ก.พ. แล้วจะนำคำสั่งศาลไปหารือกับตะวัน และแบมที่โรงพยาบาลในช่วงบ่าย เพื่อตัดสินใจอีกครั้ง

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยพ่อแม่ของ ตะวันและแบม เข้าเยี่ยมติดตามอาการที่ รพ. ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เช้าวันที่ 6 ก.พ. 2566
ก่อนหน้านี้ ทนายกฤษฎางค์ ระบุว่า ได้เดินทางเข้าพบผู้บริหารศาลอาญา เพื่อแจ้งข้อเรียกร้องของตะวัน และแบม ที่ขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้คุมขังคดีทางการเมืองรวม 8 คดี ที่ถูกคุมขังมานาน หลายคนถูกคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวสูงสุดกว่า 300 วัน
บางรายอย่างคดีการชุมนุมที่ดินแดงของกลุ่มทะลุแก๊ส ถูกข้อหามีระเบิดปิงปอง ซึ่งไม่ใช่คดีระเบิดร้ายแรง ก็ยังไม่ได้รับประกันตัว โดยเมื่อแจ้งกับตะวันว่า ได้ยื่นคำร้องต่อศาลแล้ว ตะวันระบุว่าจะติดตามรอฟังผลการยื่นขอปล่อยตัวในครั้งนี้
ทนายเผยว่า ได้แจ้งกับตะวันว่า ทุกคนขอให้ตะวันรับการรักษา เพราะเวลาที่เหลืออาจไม่พอ อาจจะสูญเสียชีวิตหรืออวัยวะบางส่วน ขอให้แพทย์ตรวจรักษาได้หรือไม่ เนื่องจากไม่รู้ว่าศาลจะให้ประกันตัวเมื่อใด แต่ตะวันยังยืนยันที่จะรอผลการยื่นประกัน ซึ่งทนายคาดว่าจะออกมาในช่วงเย็นวั
"หนูยังอยู่ไหว ถ้าไม่ไหวหนูจะหลับไปเลย" นายกฤษฎางค์ กล่าว พร้อมเผยคำขอจากตะวันว่า "ไม่ต้องห่วงเขา เขาตัดสินใจแล้วว่าจะรอ และสิ่งที่เขาเรียกร้อง ถ้าแพ้หรือสูญเสีย ขอให้ทุกคนต่อสู้ตามสิ่งที่เขาเสนอได้ไหม"
ทนายกฤษฎางค์ เปิดเผยว่า แพทย์โทรแจ้งพ่อแม่ให้เข้าเยี่ยมอาการเช้านี้
“เมื่อ ชม. ที่แล้วหมอจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ได้โทรศัพท์ถึงพ่อแม่ของเด็กสาวทั้งสองคนว่าอาการของพวกเธอทรุดลงอย่างน่าวิตก ขอให้พ่อแม่โทรศัพท์หาทนายความเพื่อไปเยี่ยมในตอนเช้าพรุ่งนี้ให้ได้” ทนายกฤษฎางค์ โพสต์บนเฟซบุ๊ก Krisadang-Pawadee Nutcharus เมื่อช่วงค่ำคืนวันที่ 5 ก.พ.
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
สุชาติ และพรนิภา ภู่พงษ์ พ่อและแม่ของ แบม อรวรรณ
ด้าน รศ.นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ. ธรรมศาสตร์ฯ เปิดเผยอาการของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส. อรวรรณ ว่าโดยรวม สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งสองสามารถพูดคุยรู้เรื่อง สามารถสื่อสารทั้งแพทย์และผู้มาเยี่ยมรู้เรื่อง แต่สภาพร่างกายที่อดอาหารเริ่มมีสภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างมากขึ้น
"ในภาพรวมตอนนี้ ยังถือว่าไม่ได้เข้าขั้นวิกฤตหรือฉุกเฉินใด ๆ" รศ.นพ. พฤหัส กล่าว และยืนยันว่าทางทีมแพทย์ดำเนินการรักษาตามจรรยาบรรณและวิชาชีพทางการแพทย์ ขอให้ทุกคนไม่ต้องห่วง ในเรื่องการดูแลในภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉินใด ๆ ต่อจากนี้
วันที่ 6 ก.พ. คือวันที่ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส.อรวรรณ เข้าสู่การอดอาหารเป็นวันที่ 20 โดยในช่วงแรกทั้งคู่อดทั้งอาหารและน้ำ ก่อนยอมรับการจิบน้ำตามคำแนะนำของแพทย์
ทั้งคู่ยื่นถอนประกันตัวเอง แล้วกลับเข้าเรือนจำ ก่อนประกาศอดอาหารและน้ำตั้งแต่ 18 ม.ค. เพื่อเรียกร้องให้ศาลอนุมัติการประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลย คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และคดีทางการเมืองอื่น ในระหว่างต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยด้วยว่า วันนี้ ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด รวม 8 คดี ยกเว้นตะวัน, แบม, ใบปอ และเก็ท ซึ่งขอถอนประกันตัวไปก่อนหน้านี้
ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังเป็นระยะเวลานานสุด ได้แก่ คงเพชร และคทาธร นักกิจกรรมกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในคดีมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง ถูกคุมขังในชั้นพิจารณาคดีมาแล้ว 302 วัน
โรงพยาบาลธรรมศาสตฯ ออกแถลงการณ์ชี้แจงอาการของ “ตะวัน” และ “แบม” ทางเฟซบุ๊ก เมื่อเวลาประมาณ 02.23 น. ของ 6 ก.พ. ว่า ทั้งสองคน มีอาการอ่อนเพลีย มีภาวะเลือดเป็นกรด ภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด ค่าคีโตนในเลือดสูง เนื่องจากภาวะอดอาหาร และยังปฏิเสธการรักษาด้วยน้ำเกลือที่มีส่วมผสมของน้ำตาลและเกลือแร่ที่ผิดปกติ
"ทำให้ทีมผู้รักษาเพิ่มความถี่ในการตรวจติดตามระดับน้ำตาล และเฝ้าระวังอาการน้ำตาลอย่างใกล้ชิด" รพ.ธรรมศาสตร์ ระบุ
ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลธรรมศาสตร์
แถลงการณ์ รพ. ฉบับที่ 5 บอกว่า น.ส. ทานตะวัน ยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ตื่นแต่ตอบโตช้า อ่อนเพลียมากขึ้น ปากแห้ง พะอืดพะอมตลอดเวลา ยังมีเลือดออกตามไรฟัน ไม่มีเลือดออกผิดปกติหรือจุดจ้ำเลือดออกที่บริเวณอื่น มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง นอนหลับแล้วตื่นกลางดึกหลับต่อไม่ได้ รู้สึกว่าการคิดและความจำลดลง มีความกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพจากการอดอาหาร การตอบสนองทางอารมณ์ เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด 50 mg/dL มีภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด มีภาวะเลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูง (serum ketone 6.05 mmol/L) เนื่องจากภาวะอดอาหาร ปฏิเสธคำแนะนำเรื่องการดื่มน้ำผสมวิตามินซีเพื่อบรรเทาอาการเลือดออกตามไรฟัน

ส่วน น.ส. อรวรรณ ยังคงไม่รับประทานอาหารแต่จิบน้ำ ตื่นรู้สึกตัวดี อ่อนเพลียมากขึ้น จนทำให้ต้องลดการเคลื่อนไหว เหนื่อย ใจเต้นเร็ว ปากแห้ง พะอืดพะอมเวลาจิบน้ำ ต้นขาอ่อนแรง มีอาการแสบร้อนลิ้นปี่ มีลมในช่องท้อง หน้ามืดและเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ สามารถตอบโต้ได้ มีความกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพจากการอดอาหาร การตอบสนองทางอารมณ์เหมาะสมกับเรื่องราวที่พูดคุย สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ระดับน้ำตาลในเลือด 61 mg/dL มีภาวะเกลือแร่ต่ำหลายชนิด มีภาวการณ์แข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีภาวะเลือดเป็นกรด ค่าคีโตนสูง (serum ketone 6.06 mmol/L) เนื่องจากภาวะอดอาหาร ปฏิเสธการดื่มน้ำผสมเกลือแร่เพื่อลดภาวะเลือดเป็นกรด ตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. จนถึงปัจจุบัน

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
กาหลง ตัวตุลานนท์ แม่ของ "ตะวัน" ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เมื่อ 6 ก.พ. 2566
รศ.นพ. พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการ รพ. ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยเมื่อ 10.20 น. ถึงความคืบหน้าอาการของ น.ส.ทานตะวัน และ น.ส. อรวรรณ ว่าโดยรวม สัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ทั้งสองสามารถพูดคุยรู้เรื่อง สามารถสื่อสารทั้งแพทย์และผู้มาเยี่ยมรู้เรื่อง แต่สภาพร่างกายที่อดอาหารเริ่มมีสภาวะแทรกซ้อนหลายอย่างมากขึ้น
"ในภาพรวมตอนนี้ ยังถือว่าไม่ได้เข้าขั้นวิกฤตหรือฉุกเฉินใด ๆ" รศ.นพ. พฤหัส กล่าว และยืนยันว่าทางทีมแพทย์ดำเนินการรักษาตามจรรยาบรรณและวิชาชีพทางการแพทย์ ขอให้ทุกคนไม่ต้องห่วง ในเรื่องการดูแลในภาวะวิกฤตหรือฉุกเฉินใด ๆ ต่อจากนี้
ผอ. รพ.ธรรมศาสตร์ฯ กล่าวด้วยว่า ผลจากการอดอาหารและน้ำทำให้อ่อนเพลีย เกิดความเจ็บปวดอย่างการปวดท้อง และสารต่าง ๆ ของเสียเริ่มคั่งในเลือดและร่างกาย ขณะที่อวัยวะสำคัญ เช่น ไต เสื่อมสภาพการทำงานลง
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
ผอ. รพ. ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มีทีมแพทย์ 3 คน ดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังมีทีมแพทย์ชุดพิเศษและสหวิชาชีพ ร่วมดูแลด้วย โดยการเปิดเผยการรักษาแต่ละวัน รพ. จะชี้แจงรายงานติดตามอาการของวันนั้นตั้งแต่ เวลา 08.00-16.00 น.
สำหรับการรักษา ทีมแพทย์ให้คำแนะนำเรื่องอาหารและน้ำตั้งแต่รับเข้ามารักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ในการจิบน้ำ ช่วงแรกตะวันและแบมรับน้ำได้พอสมควร แต่ปัจจุบันรับน้ำได้น้อยลง ส่วนเรื่องอาหารเหลว หรือการให้น้ำเกลือทางสายยาง เป็นสิ่งที่ทางคณะแพทย์พูดคุยกับทั้งสองอยู่เช่นกัน แต่ทั้งตะวันและแบมยังปฏิเสธการรับสารอาหารดังกล่าว
รศ.นพ. พฤหัส กล่าวด้วยว่า หากร่างกายของนักกิจกรรมหญิงทั้งสองเข้าขั้นวิกฤต ทางทีมแพทย์พร้อมดำเนินการตามจรรยาบรรณวิชาชีพ
"ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงที่เข้าวิกฤตฉุกเฉินใด ๆ เราสามารถที่จะดำเนินการตามจรรยาบรรณวิชาชีพทางการแพทย์ได้ ทาง รพ. เราวางแผนอยู่ แต่เนื่องจากว่าน้องทั้งสองยังคงรู้สติสัมปชัญญะ มีการโต้ตอบได้ดี ค่าต่าง ๆ ถึงแม้ว่า จะเลวร้ายลง แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ทางการแพทย์ยังรับได้ ยังไม่เป็นภาวะวิกฤตใด ๆ ตรงนี้จึงยังไม่ได้มีการแทรกแซงใด ๆ เป็นพิเศษ มีเพียงแต่การพูดคุยแนะนำ และพยายามที่จะทำให้สุขภาพของน้อง อย่างน้อย ๆ ให้กลับมาดำเนินกิจกรรม ต่อไปได้ในอนาคต"
ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *