#แบนสุพรรณหงส์ : สมาพันธ์ภาพยนต์แห่งชาติยอมถอย หลังคนวงการภาพยนตร์ต่อต้านเงื่อนไขไม่เป็นธรรม – บีบีซีไทย

ที่มาของภาพ, สุพรรณหงส์
คนในวงการร่วม #แบนสุพรรณหงส์ เหตุเงื่อนไขคัดเลือกหนังเข้าชิงไม่เป็นธรรม
#แบนสุพรรณหงส์ กลายเป็นกระแสบนโซเชียลมีเดียข้ามวัน เมื่อผู้กำกับ นักแสดง ทีมงาน และคนในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต่างลุกฮือแสดงจุดยืนคัดค้านเงื่อนไขสิทธิในการเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ที่ตัดสิทธิภาพยนตร์รายเล็กไม่ให้เข้าชิงรางวัล
นับตั้งแต่เปิดปี 2023 เป็นต้นมา วงการภาพยนตร์ไทยมีข่าวให้เป็นประเด็นอยู่หลายเรื่องนับตั้งแต่การจัดรอบฉายภาพยนตร์ไทยที่ไม่เป็นธรรม การเซ็นเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง "หุ่นพยนต์" ที่เกิดจากความเห็นของคนกลุ่มเดียว
และล่าสุด กับเงื่อนไขการเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ที่สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติระบุไว้ว่า ภาพยนตร์ที่มีสิทธิเข้าชิงรางวัลได้ต้องฉายครบ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ชลบุรี นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช) และมียอดคนดูอย่างน้อย 50,000 คน
หากคำนวณว่า ค่าตั๋วหนังโดยเฉลี่ยในปัจจุบันที่อยู่ประมาณ 200 บาทต่อที่นั่ง หากภาพยนตร์เรื่องนี้อยากจะเข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ที่ระบุว่าต้องมีคนดูอย่างน้อย 50,000 คน นั่นเท่ากับว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องทำรายได้ให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านบาท ถึงจะมีสิทธิเข้าชิงรางวัล
ปัจจุบันนี้ มีภาพยนตร์ไทยที่ทำรายได้เกิน 10 ล้านบาท อยู่เพียงไม่กี่เรื่อง และมีอยู่ไม่กี่ค่ายหนังเท่านั้นที่ทำถึงเงื่อนไข รวมถึงโรงภาพยนตร์ที่มีโรงภาพยนตร์อยู่ครบทั่วทั้ง 5 ภูมิภาคนั้นก็มีอยู่ไม่กี่เครือ ไม่นับว่าคนทำหนังต้องตกลงกับทางโรงเองว่า จะได้ฉายกี่โรง และกี่รอบที่โรงเป็นคนกำหนด ซึ่งไม่มีทางรู้ว่าจะได้ฉายครบทั้ง 5 ภูมิภาคหรือไม่
End of เรื่องแนะนำ
ล่าสุด ช่วงคืนวันที่ 31 มีนาคม สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้จัดการประกาศรางวัลสุพรรณหงส์ ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า ได้ประชุมหารือ และมีมติเรื่องหลักเกณฑ์การพิจารณาภาพยนตร์ไทยที่สามารถส่งเข้าชิงรางวัล "เพื่อเปิดโอกาสให้กับภาพยนตร์ไทยที่หลากหลายและครอบคลุม"
เงื่อนไขใหม่คือ "ภาพยนตร์ไทยที่มีความยาวไม่น้อยกว่า 60 นาที เข้าฉายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยเป็นการฉายในภาพยนตร์ หรือสถานที่อื่นใดที่มีการจัดฉายภาพยนตร์ในเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย และมีระยะเวลาการฉายไม่น้อยกว่า 7 วัน"
ถือว่าเป็นการยกเลิกเงื่อนไขที่คนวงการภาพยนตร์จำนวนมาก มองว่าไม่เป็นธรรม
"ขออภัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และขอบคุณทุกท่านที่สนับสนุนภาพยนตร์ไทยมาโดยตลอด"
ที่มาของภาพ, สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ
สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติพยายามจะเปลี่ยนกฎเกณฑ์การคัดเลือกหนังเพื่อเข้าชิงสุพรรณหงส์ดังกล่าวตั้งแต่ปี 2562 แต่โดนกระแสต่อต้านจากฝั่งคนทำหนังจนยกเลิกไป
แต่ทางสมาพันธ์ฯ ยังไม่ล้มเลิกความพยายามที่จะใช้กฎเกณฑ์นี้ จนปี 2566 เริ่มนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้ และมีหนังหลายเรื่องได้รับผลกระทบ
ศราวุธ แก้วน้ำเย็น ผู้ออกแบบงานสร้างภาพยนตร์เรื่อง ‘เวลา (Anatomy of Time)’ ซึ่งกำกับโดย จักรวาล นิลธำรงค์ ได้รับรางวัลและฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในหลายประเทศ ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กคืนวันพุธที่ 29 มี.ค. แสดงความยินดีที่ภาพยนตร์เรื่อง เวลา ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวที 'คมชัดลึกอวอร์ดครั้งที่ 19' และระบุในโพสต์เดียวกันว่า ภาพยนตร์เรื่อง เวลา โดนตัดสิทธิไม่ให้เข้าชิงรางวัลสุพรรณหงส์ในปีนี้ ใจความจากในโพสต์ตอนหนึ่งระบุว่า
“…….หงส์มีหลักเกณฑ์ใหม่ที่เพิ่งตั้งในปีนี้ว่า ภาพยนตร์ที่จะเข้าคัดเลือกต้องมีการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ให้ครบ 5 ภูมิภาคของประเทศไทย แต่ภาพยนตร์เรื่อง Anatomy of Time ไม่ได้ไปฉายให้ครบทุกภาคของประเทศ ก็เลยไม่ผ่านเกณฑ์การตัดสิน”
ที่มาของภาพ, บริษัท ไดเวอร์ชั่น จำกัด
ภาพยนตร์เรื่อง ‘เวลา’ (Anatomy of Time) กำกับโดย จักรวาล นิลธำรงค์
“นี่หรอครับ เพียงแค่เราทำหนังโดยทุนต่ำ และไม่มีปัญญาหาเงินหรือไปขอโรงภาพยนตร์ยักษใหญ่ เข้าฉายให้ครบทุกภาคในประเทศบ้านเกิด แต่เราเข้าฉายไปทั่วโลกและคนในประเทศที่ไม่ใช่บ้านเรา ก็ให้รางวัลมาหลายที่ ? ผิดด้วยหรอที่เราฉายไม่ครบทุกภาค ? แต่เราก็ฉายในสตรีมมิ่งอันดับต้นของโลก? ผิดด้วยหรอที่เราถูกโรงหนังขนาดใหญ่ของประเทศตัดรอบฉาย ?”
โพสต์นี้เกิดการแชร์กันอย่างแพร่หลาย และทำให้หลายคนได้รับรู้ถึงกฏเกณฑ์ใหม่ที่กำลังประกาศใช้
ต่อมา หรินทร์ แพทรงไทย ผู้ลำดับภาพให้กับภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวติดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ ถึงกฏเกณฑ์ใหม่ที่รางวัลสุพรรณหงส์ตั้งขึ้นและเรียกร้องให้คนในวงการภาพยนตร์งดมีส่วนร่วมในงานครั้งนี้
ทำให้คนในวงการภาพยนตร์ ผู้กำกับ นักแสดง ทีมงาน ต่างพากันออกมาร่วมแสดงจุดยืนติดแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ และประกาศว่าจะขอไม่ไปร่วมงานในในครั้งนี้ แม้หลายคนมีขื่อเข้าขิงรางวัลในปีนี้ก็ตาม
คนในวงการที่ออกมาแสดงจุดยืนในครั้งนี้มีมากมาย อาทิ ยุทธนา บุญอ้อม (พิธีกร, ผู้ดำเนินรายการ) เอกชัย ศรีวิชัย (ผู้กำกับ, ศิลปิน) อิชณน์กร พึ่งเกียรติรัศมี 'จ๋าย ไททศมิตร' (ศิลปิน, นักแสดง) เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ (Fast & Feel Love, ฟรีแลนซ์..ห้ามป่วย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ,) ณฐพล บุญประกอบ (เอหิปัสสิโก) อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม (รถไฟฟ้า มาหานะเธอ, บุพเพสันนิวาส ๒) บรรจง ปิสัญธนะกูล (พี่มาก..พระโขนง, ร่างทรง)
อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ รองประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ออกมาเคลื่อนไหวด้วยการประกาศลาออกจากตำแหน่ง เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่เห็นด้วยกับการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวและไม่มีส่วนรู้เห็นใด ๆ กับการออกกฎเกณฑ์นี้
ไม่เพียงแค่คนในวงการภาพยนตร์เท่านั้น คนดูหนังเองก็ต่างแสดงความเห็นกันอย่างแพร่หลายบนแฮชแท็ก #แบนสุพรรณหงส์ รวมถึง ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ระดับแนวหน้าก็ยังพูดถึง
คำถามคือ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติออกกฎเกณฑ์นี้มาเพื่ออะไรกันแน่ ?
ด้วยลักษณะงานประกาศรางวัลที่ต้องอาศัยคนมีชื่อเสียงเข้าร่วม มีดาราแม่เหล็ก รวมถึงมีการสปอนเซอร์ เพื่อให้มีคนติดตาม จึงอาจต้องอาศัยภาพยนตร์ที่อยู่ในกระแสหลักเป็นตัวช่วยกระตุ้น
แต่นั่นเท่ากับว่ารางวัลที่ขึ้นชื่อว่าเป็น "รางวัลแห่งชาติ" จะกลายเป็นรางวัลที่มีมีคุณค่าเพียงแค่ตัวเลขของคนดูและรายได้ของภาพยนตร์เท่านั้น
พรชัย ว่องศรีอุดมพร เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ระบุผ่านรายการโหนกระแส วันที่ 31 มี.ค. ว่า รางวัลสุพรรณหงส์ต้องการให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ เพราะเป็นรางวัลมหาชน
"แต่หลาย ๆ ครั้งเวลาหนังที่ชนะรางวัลไม่เป็นที่รู้จักทั้งคนดูหรือทางสปอนเซอร์ อาจทำให้รางวัลเป็นที่น้อยลง (พรชัยไม่ได้ขยายว่า ที่น้อยลงหมายถึงอะไร) ไม่อยากให้เป็นรางวัลที่มอบกันเอง สนุกกันเอง แต่อยากให้เป็นที่ยอมรับของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ให้แต่คนรู้จักในวงการกันเอง"
ส่วนเรื่องกฎเกณฑ์นี้ พรชัยยอมรับว่า มีการพูดคุยถึงกฎเกณฑ์นี้จริงแต่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ เอกสารรายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกตัดสิทธิที่หลุดออกมาก่อนหน้านี้ เป็นเอกสารภายในที่ยังไม่ได้มีการสรุปกัน จึงถือว่าเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง
*ธนกร ปุลิเวคินทร์ ประธานสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ มีอีกตำแหน่งเป็นกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด และพรชัย เคยนั่งตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งเป็นเครือเดียวกันกับ เมเจอร์ฯ
ที่มาของภาพ, สุพรรณหงส์
เอกสารรายชื่อภาพยนตร์ที่ถูกตัดสิทธิที่หลุดออกมา
© 2023 บีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก. อ่านเกี่ยวกับแนวทางของเราในการติดต่อกับลิงก์ภายนอก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *